วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558

ฤทธิ์เพิ่มสมรรถภาพทางเพศของหมามุ่ย

หมามุ่ยเป็นพืชเถาซึ่งมีขนคันบริเวณฝัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mucuna pruriens (L.) DC. ตาม สรรพคุณพื้นบ้านนั้น เมล็ดของหมามุ่ยถูกนำมาใช้ในตำรับยาไทยมาช้านานในการรักษาโรคบุรุษ และมีความเชื่อว่าสามารถใช้เป็นากระตุ้นกำหนัดได้ การ วิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของหมามุ่ยต่อสมรรถภาพทางเพศในสัตว์ทดลองพบว่า การป้อนหนูแรทเพศผู้ด้วยสารสกัดเอทานอลเมล็ดหมามุ่ยที่ความเข้มข้น 200 มก./กก.ของน้ำหนักตัว วันละครั้ง เป็นเวลา 21 – 45 วัน สามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของหนูได้ กล่าวคือมีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของหนูเปลี่ยนไป โดยมีพฤติกรรมการจับคู่และการขึ้นคร่อมตัวเมียถี่ขึ้น และมีระยะเวลาในการเริ่มสอดใส่อวัยวะเพศครั้งแรกจนหลั่งน้ำเชื้อ (ejaculation latency, EL) นานขึ้น นอกจากนี้การศึกษาทางคลินิกในประเทศอินเดียกับอาสาสมัครเพศชายที่มีภาวะ จำนวนสเปิร์มน้อย และสเปิร์มมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ โดยให้ อาสาสมัครดื่มนมที่ผสมกับผงบดเมล็ดหมามุ่ยขนาด 5 กรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า ค่าความเข้มข้นของสเปิร์ม และการเคลื่อนไหวของสเปิร์มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีค่าเกือบเทียบเท่ากับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมล็ดหมามุ่ยมีประสิทธิภาพในการช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำ เชื้อให้ดีขึ้นได้ แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อนำผงบดของเมล็ดหมามุ่ยมาทดลองในหนูแรทเพศเมีย กลับมีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศมีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ มีพฤติกรรมการจับคู่กับหนูตัวผู้ลดลง และปฏิเสธการรับการผสมพันธุ์จากหนูตัวผู้ แสดงให้เห็นว่าการรับประทานเมล็ดหมามุ่ยอาจให้ผลแตกต่างในระหว่างเพศชายและ หญิง
แม้ว่าจะมีงานวิจัยรองรับถึงฤทธิ์เพิ่มคุณภาพของน้ำเชื้อในบุรุษของเมล็ด หมามุ่ย แต่ก็มีไม่มากนัก และหมามุ่ยยังแบ่งได้เป็นอีกหลายสายพันธุ์ (Varieties) โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่ระบุถึงความแตกต่างเกี่ยวกับฤทธิ์ทาง เภสัชวิทยาที่แน่ชัดของแต่ละสายพันธุ์ สำหรับในประเทศไทยสายพันธุ์ที่พบจะเป็นกลุ่มไม้ป่า Mucuna pruriens (L.) DC. Cultivar group Pruriens ซึ่งจะมีขนพิษปกคลุมที่ฝัก ทำให้เกิดอาการคันเมื่อสัมผัส ส่วนกลุ่มที่เป็นไม้ปลูก Mucuna pruriens (L.) DC. Cultivar group Utillis จะไม่มีขนพิษที่ฝัก ไม่มีการปลูกในประเทศไทย นอกจากนี้ในเมล็ด ของหมามุ่ยจะมีสาร L-dopa หรือ L-3,4- dihydroxyphenylalanine อยู่ปริมาณสูง ซึ่งถูกนำมาผลิตเพื่อการค้าในการรักษาโรคพาร์กินสัน สาร L-dopa นี้ เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท dopamine ซึ่งมีผลต่อสมองส่วนต่างๆ ในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะการควบคุมการเคลื่อนไหว และยังมีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำลง การรับประทานในปริมาณที่มากอาจมีผล เสียต่อร่างกาย ดังนั้นจึงไม่ควรเก็บหมามุ่ยมารับประทานเอง จนกว่าจะได้รับการยืนยันถึงสายพันธุ์ที่ใช้ทดสอบ และมีการศึกษาถึงความเป็นพิษในคนที่แน่ชัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Category 5

Category 6 (Carousel)